วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย
            ในสังคมปัจจุบัน  ความต้องการในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว  ทั้งนี้เพราะภาวะทางเศรษฐกิจและสภาพทางสังคม ซึ่งพ่อแม่จะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้พ่อแม่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเร็วขึ้นกว่าเดิม  การจัดสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยแก้ปัญหาของสังคม เป็นการแบ่งเบาภาระพ่อแม่ และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสมกับเด็ก


                จากคำกล่าวของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  (2522  :  บทนำ)  ที่ว่า  “ได้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัยในต่างประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว โดยจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเด็กของเด็กในช่วงห้าปีแรกของชีวิตว่า  เป็นระยะที่สำคัญมากต่อการวางรากฐานบุคลิกภาพของชีวิตมนุษย์ซึ่งข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเราควรหันมาพิจารณาถึงการจัดการศึกษาในระดับนี้กันอย่างจริงจัง และหาวิธีการในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้อย่างเหมาะสม
                ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย สิ่งที่ พ่อแม่ ตรู นักการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดการศึกษาปฐมวัยดังต่อไปนี้
                เด็กปฐมวัย (Early  Childhood) เป็นคำที่เราใช้เรียกเด็กตั้งแต่ปฎิสนธิจนถึง 6 ปี ซี่งอยู่ในวัยที่คุณภาพของชีวิตทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญากำลังเริ่มต้นอย่างเต็มที่  (Massoglia.1997  : 3)  ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการวิจัย “การจัดบริการศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน”(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  .2522  : 8)  ได้ระบุไว้ในรายงานผลการวิจัยดังกล่าวว่า “เด็กปฐมวัย”  หมายถึง 
                1.  เด็กที่อยู่ในศูนย์โภชนาการเด็ก  หรือสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน  หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  หรือที่เรียกว่าศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน
                2.  เด็กที่เรียนในชั้นอนุบาล 1  และ ในโรงเรียนอนุบาลของรัฐและเอกชน  รวมทั้งเด็กที่เรียนในชั้นอนุบาล 1 และ ในโรงเรียนอื่นที่เปิดชั้นอนุบาล 1 และ หรือชั้นเด็กเล็กเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนซึ่งโดยทั่วไปมีอายุประมาณ  3-6  ปี
               “การจัดการศึกษาปฐมวัยหมายถึง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง  6  ปี ซึ่งการจัดการศึกษาดังกล่าวจะมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างไปจากระดับอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่สำคัญต่อการวางรากฐานบุคลิกภาพและการพัฒนาทางสมอง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปหลายชื่อ ซึ่งแต่ละโปรแกรมมีวิธีการและลักษณะในการจัดกิจกรรมที่ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยพัฒนาเด็กในรูปแบบต่างๆ  กัน
                การจัดการศึกษาปฐมวัยควรมีส่วนช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างเต็มที่  ซึ่งแนวคิดการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้ทุกรูปแบบควรมีส่วนสำคัญที่ดังมาสโซเกลีย  (Massoglia.1997  : 3-4)   กล่าวไว้ดังนี้
เป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทุกด้าน  นับตั้งแต่แรกเกิดจนเริ่มเข้าเรียนในระบบโรงเรียน
วางพื้นฐานทางสุขภาพอนามัยให้กับเด็กตั้งแต่ต้น  รวมทั้งเด็กที่มีข้อบกพร่องต่างๆ
สิ่งแวดล้อมทางบ้านควรมีส่วนช่วยให้เด็กเจริญเติบโต  และพัฒนาได้ทุกๆด้าน
พ่อแม่ควรเป็นครูคนแรกที่มีความสำคัญต่อลูก
อิทธิพลจากทางบ้านมีผลต่อกระบวนการในการพัฒนาเด็ก
องค์ประกอบของการศึกษาปฐมวัย

          ดร.  นีร์  -  จาร์นีฟ  (Dr.Nir – J arniv)  (มหาวิทยาลัยศรีนทรวิโรฒ  ประสานมิตร.  2532  : กร.1/2523)  ได้ให้ข้อคิดว่า  การศึกษาปฐมวัยมีองค์ประกอบที่สำคัญ  3  ประการ  ที่ควรพิจารณาคือ
1.   ตัวเด็ก  ในเรื่องนี้ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดรวบยอดของตัวเด็ก  กล่าวคือ  ควรเข้าใจถึงจิตวิทยาพัฒนาการ  ธรรมชาติของเด็ก  และเข้าใจถึงพัฒนาการในการคิด  ความต้องการเด็ก  โดยคำนึงถึงว่า
1.1  เด็กทุกคนมีความเหมือนกัน  คือ  มีการพัฒนาไปตามขั้นตอน  มีความต้องการ  (Needs)  และมีความกระตือรือร้น  (Curiosity)  เหมือนๆกัน
1.2  เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน  กล่าวคือ  ทุกคนมีภูมิหลังและพื้นฐาน 
(Background)  ไม่เหมือนกัน
1.3  เด็กทุกคนต้องการมีเพื่อน
          2.  พ่อแม่  ในการจัดการการศึกษา  ควรคำนึงถึงว่าพ่อแม่เป็นครูคนแรกและเป็นแบบอย่างให้แก่ลูก  พ่อแม่เป็นบุคคลคนแรกที่ลูกรู้จัก  เป็นผู้ปลูกฝังความคิดและพัฒนาบุคลิกภาพ  ตลอดจนค่านิยมต่างๆ  ของสังคม  จากการวิจัยพบว่าการนำพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการให้การศึกษาลูก  ทำให้การศึกษาแก่เด็กดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ยังได้มีการให้การศึกษาแก่พ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูแก่ลูกให้มากขึ้น  จึงเป็นสิ่งที่น่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถช่วยให้พ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งของลูกได้เข้าใจ  และมีส่วนร่วมในการให้การอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ลูก  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกอย่างแท้จริง  ดังนั้นในการจัดการศึกษาจึงควรมีการรวบรวมเอาพ่อแม่เข้าไว้ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้วย
                3.  ตัวครู  ความหมายของครูในที่นี้หมายรวมไปถึงผู้ดูแลเด็ก  พี่เลี้ยง  ศึกษานิเทศก์  และบุคลากรอื่นๆ  ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็ก  ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย  ครูและบุคคลต่างๆ  ที่กล่าวมาเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็ก  ดังนั้น  บุคคลเหล่านี้จึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้ด้วย
          แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัยเริ่มต้นมาเป็นเวลานานแล้ว  นับแต่สมัยกรีกและโรมัน  โดยพลาโต  (Plato)  อริสโตเติล  (Aristotle)  และนักปรัชญาอีกหลายท่านในสมัยนั้นที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของเด็กในช่วง  6  ปีแรกของชีวิต  จากแนวคิดของนักปรัชญาต่างๆเหล่านี้  เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการจัดการศึกษาปฐมวัยในสมัยต่อมา


                สิ่งที่ผู้สอนจะต้องเข้าใจให้ชัดเจนในเรื่องการนำแนวทฤษฎี แนวคิดของกลุ่มนักการศึกษา หรือนวัตกรรมไปใช้คือ องค์ประกอบที่สัมพันธ์เชื่อมโยง 3 ประการ ประการที่หนึ่งคือ ความเชื่อ (belief)ในแนวคิดที่ผู้สอนสนใจศึกษาต้องการนำไปปฏิบัติ ประการที่ 2 ความเข้าใจ ความรู้ในทฤษฎี (theory) เพื่อใช้อธิบายเหตุผลในการปฏิบัติและสนับสนุนความเชื่อของตน ประการที่ 3 ความสามารถในการปรับการสอนของตน (practice) ด้วยความเชื่อมั่น จะเห็นได้ว่านวัตกรรมการสอนไม่ใช่เทคนิคการสอนที่เรียนได้โดยตรงจากการเลียน
แบบผู้อื่น และไม่ใช่แผนการสอนสำเร็จรูปที่เขียนไว้ให้ทุกคนนำไปใช้ได้เหมือนๆ กัน แต่ละองค์ประกอบจะประสานสนับสนุนกันและเกิดขึ้นต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและแสวงหา (inquiry) ความคิดและการปฏิบัติที่ชัดเจนและมีคุณภาพมากขึ้น
                นวัตกรรมการศึกษาปฐมวัย เกิดจากความคิดในการเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอน คำถามในเรื่องการจัดการศึกษาให้กับเด็กนั้นมิได้อยู่ที่ว่าควรจัดหรือไม่ควรจัด แต่ประเด็นคำถามทุกวันนี้ที่ทำให้เรายังคงแสวงหาคำตอบก็คือ จะจัดการศึกษาอย่างไรให้เด็กได้รับการพัฒนารอบด้านอย่างสมดุล เต็มตามศักยภาพ กรอบแนวคิดที่จะช่วยอธิบายและให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่มีอยู่มาสนับสนุนการบูรณาการทฤษฎีต่างๆตลอดจนการนำผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องไปใช้จริง
                นอกจากการบูรณาการทฤษฎีที่หลากหลายเข้าด้วยกันแล้วผู้สอนยังต้องกำหนดกรอบของมวลประสบการณ์ และสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะกับวัย ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลและรายกลุ่ม (Developmentally Appropriate Curriculum) มีความเข้าใจในการรู้วิธีประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง authenticassessment)และใช้ระบบสะท้อนข้อมูลการสอนจากการสังเกตบันทึกพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กเพื่อการวางแผนการสอนในครั้งต่อๆ ไป (Reflective Teaching)
                สรุปในการจัดการศึกษาปฐมวัยหรือเด็กวัยใดก็ตาม  ควรคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กในวัยนั้นๆเป็นสำคัญ  การศึกษาถึงพัฒนาการของเด็กจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจถึงธรรมชาติและลักษณะพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย  ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจัดประสบการณ์  จัดการเรียนการสอน  และอบรมเลี้ยงดูเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับพัฒนาการ


บรรณานุกรม
กมลรัตน์  หล้าสุวงษ์.  (2528). จิตวิทยาการศึกษา.  กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหากุฏราชวิทยาลัย.คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2523).  สำนักงาน  สำนักนายกรัฐมนตรี.  การจัดบริการศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน. กรุงเทพฯ:เอารวัณการพิมพ์.
ประสาท  อิศรปรีดา.  (2523). จิตวิทยาการเรียนรู้กับการสอน.  กรุงเทพฯ  :  กราฟฟิคอาร์ต.ศรีนครินทรวิโรฒ.  มหาวิทยาลัย.ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมเมาท์      คาร์-เมล.การอบรมการศึกษาก่อนวัยเรียน.  เอกสารเนื่องในการฝึกอบรมโดย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒร่วมกับศูนย์ ฝึกอบรมเมาท์  คาร์เมล    มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  บางเสน  14  เมษายน-8 พฤษภาคม  2523.  เอกสารอัดสำเนา.